การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดระดับสูง
 
 
 
 
สวัสดีครับท่านผู้อ่าน เมื่อวานนี้ที่โรงเรียนมีประชุมปฏิบัติการ เรื่อง "การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการคิดระดับสูง" ผมมีโอกาสได้ฟังแนวคิดของวิทยากรหลายท่าน จึงขอเก็บบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ครับ
ปรมาจารย์ที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นคนแรกก็คือ Benjamin Bloom (1956) เสนอกรอบแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางปัญญาและการคิด ครอบคลุมพฤติกรรมทั้ง 3 ด้าน คือด้านการรู้คิด (Cognitive Domain) ด้านอารมณ์ (Affective Domain) และด้านทักษะทางกาย (Psychomotor Domain) เพื่อนครูคงเคยเรียนเรื่องนี้มาแล้วทุกคน
ปัจจุบันด้านการรู้คิด เป็นด้านที่ได้รับการนำไปใช้มากที่สุด ในการออกแบบหลักสูตร จัดกิจกรรมการเรียนการสอน และการวัดประเมินผล โดยจัดลำดับการรู้คิด จากขั้นพื้นฐานจนถึงซับซ้อนเป็น 6 ระดับ ได้แก่ ความรู้ความจำ(Knowledge) ความเข้าใจ(Comprehension) การประยุกต์(Application) การวิเคราะห์(Analysis) การสังเคราะห์(Synthesis) และการประเมินผล(Evaluation)
การรู้คิดทั้ง 6 ระดับนี้ ยังแบ่งเป็น 2 ระดับใหญ่ คือ 2 อย่างแรกถือว่าเป็นความคิดระดับต่ำ และ อีก 4 อย่างที่เหลือเป็นความคิดระดับสูง ปัจจุบันเรามุ่งเน้นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน รวมทั้งการวัดและการประเมินความคิดระดับสูงกันมากขึ้น โดยมีความเชื่อว่าความคิดระดับสูงเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ พัฒนาได้ และจำเป็นต้องสอนตั้งแต่เด็กเพื่อให้มีทักษะการคิด และกระบวนการคิดที่มีประสิทธิภาพ งานวิจัยจำนวนมากบ่งชี้ว่า ผู้เรียนที่ได้รับการสอนทักษะการคิดจะมีผลการเรียนที่ดีขึ้น ส่วนจะทำอย่างไรคงต้องขอนำไปขยายความในโอกาสต่อไป

10 ตุลาคม 2549