Backward Design
 
 
 
 
สวัสดีครับ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมมีโอกาสได้เข้าประชุมปฏิบัติการ เรื่องการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เรียกว่า Backward Design ซึ่งโรงเรียนได้จัดให้กับครูทุกคน โดยมอบให้ครูที่ไปเข้ารับการอบรมมาจากเขตพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นวิทยากร พอจะเก็บสาระสำคัญมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ครับ
กระบวนการออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่เรียกว่า Backward Design นี้คิดค้นขึ้นโดยนักการศึกษาชื่อ Grant Wiggins โดยเขาได้เขียนแนวคิดและทฤษฎีไว้ในหนังสือชื่อ Understand by Design โดยใช้หลักการง่าย ๆ คือใช้ผลการเรียนรู้ที่เราต้องการให้เกิดกับนักเรียน (Assessment) มาออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน (Instruction) เป็นการทำตรงกันข้ามกับที่เราเคยปฏิบัติกันมา (แต่เดิมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ก่อน แล้วจึงดูผลการเรียนรู้ที่เกิดกับนักเรียนในภายหลัง) วิธีการที่ทำกลับกันนี่เองจึงเรียกว่า Backward Design
Wiggins เสนอวิธีการง่าย ๆ 3 ขั้น ในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้แบบนี้ คือ ขั้นที่ 1 ครูถามตัวเองว่าผลการเรียนรู้ที่สำคัญที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับคืออะไร โดยต้องเน้นในเรื่องความเข้าใจมากกว่าความจำ และต้องเป็นความรู้ที่คงทน (Enduring Understanding) ที่จะติดตัวนักเรียนตลอดไป ขั้นตอนที่ 2 ครูต้องคิดให้ได้ว่าอะไรเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เชื่อได้ว่า การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและได้ผลการเรียนรู้อย่างที่ต้องการในขั้นที่ 1 ได้เกิดขึ้นแล้ว และ ขั้นตอนที่ 3 ครูเลือกหรือสร้างกิจกรรม ที่จะสนับสนุนหรือส่งเสริมให้นักเรียน ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยต้องระบุว่าจะต้องใช้ทักษะอะไรบ้างในวิชานั้น รวมทั้งทักษะคร่อมวิชา (Trans-disciplinary skill) ซึ่งก็คือทักษะในวิชาอื่น ๆ ที่ต้องใช้ประกอบกัน เช่นทักษะการเขียนรายงาน(เป็นทักษะในวิชาภาษาไทย) ทักษะการค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต(เป็นทักษะในวิชาคอมพิวเตอร์) เป็นต้น
ก็เป็นแนวคิดและทฤษฎีที่น่าสนใจอีกแนวหนึ่งที่กำลังมาแรง และกำลังจะปรับปรุงใช้กันในโรงเรียนอย่างแพร่หลายต่อไป

25 พฤษภาคม 2550