ความปลอดภัยในห้องคอมพิวเตอร์
 
 
 
 
สวัสดีครับ วันนี้เราจะคุยกันเรื่องความปลอดภัยในห้องเรียนคอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการเรียนการสอนนักเรียนเป็นประจำทุกวัน เพื่อที่ครูผู้สอนหรือผู้ดูแลห้องจะใช้เป็นแนวทางในการนำไปตรวจสอบดูแลให้เกิดความปลอดภัยกับนักเรียนต่อไป
ห้องเรียนคอมพิวเตอร์จะต้องมีแสงสว่างที่เหมาะสม ซึ่งถ้าเป็นไปได้น่าจะเป็นแสงสว่างจากหลอดไฟที่ส่องมาจากเพดาน ติดตั้งม่านบังแสงจากภายนอกที่อาจทำให้เกิดภาพสะท้อนในจอภาพ หรือกั้นแสงแดดมิให้ส่องถูกเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรง เดินสายไฟฟ้าและสาย LAN ไว้ในท่อ ให้อยู่ชิดผนังห้องทั้งสองด้าน เพื่อจะได้ตั้งโต๊ะคอมพิวเตอร์เรียงเป็นแถวยาว หันหน้าเข้าหาผนังห้อง และถ้าต้องเดินสายไฟหรือสาย LAN กลางห้องอีกแถวหนึ่ง ก็ควรเดินเป็นแนวยาวจากหน้าห้องไปหลังห้อง ตั้งโต๊ะคอมพิวเตอร์หันหน้าเข้าหากันโดยมีท่อร้อยสายไฟและสาย LAN อยู่ตรงกลาง โดยเริ่มจากตำแหน่งโต๊ะคอมพิวเตอร์ตัวแรก แล้วให้ปลายท่ออยู่หลังห้อง การจัดโต๊ะคอมพิวเตอร์ลักษณะนี้ จะทำให้ครูสามารถมองเห็นจอภาพของนักเรียนทุกคนจากหน้าชั้นได้โดยง่าย และไม่ทำให้นักเรียนต้องเหยียบท่อร้อยสายไฟหรือสาย LAN ที่อาจจะเกิดอันตรายจากไฟรั่วได้ นอกจากนี้ถ้าสามารถทำได้ ระบบไฟฟ้าในห้องคอมพิวเตอร์ควรติดตั้งสายดิน และมีเครื่องป้องกันอันตรายจากไฟรั่วหรือไฟช๊อต ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น
ควรติดตั้งแผงสวิตช์สำหรับควบคุมอุปกรณ์ทั้งหมดไว้ที่ด้านหน้าห้อง เพื่อให้ครูสามารถควบคุมได้โดยง่าย ได้แก่สวิตช์ไฟฟ้าแสงสว่าง สวิตช์เครื่องปรับอากาศ สวิตช์เครื่องขยายเสียง สวิตช์เครื่องโปรเจคเตอร์ สวิตช์จ่ายไฟฟ้าให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ และสวิตช์ควบคุมระบบเครือข่าย โดยครูสามารถควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนปฏิบัติงาน ได้ทั้งชนิดผ่านเครือข่ายหรือไม่ก็ได้ นั่นคือสามารถควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตในขณะนั้นได้ด้วย
คราวนี้มาพูดถึงเครื่องคอมพิวเตอร์บ้าง ควรมีวิธีป้องกันระบบปฏิบัติการและโปรแกรมที่ลงไว้ในแต่ละเครื่องไม่ให้เกิดการเสียหาย หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รวมทั้งติดไวรัสคอมพิวเตอร์ที่มาจากการใช้ Handy Drive ของนักเรียน หรือจากอินเทอร์เน็ต ไม่ควรให้นักเรียนบันทึกงานเก็บไว้ในเครื่อง(ซึ่งนักเรียนอาจลงโปรแกรมเกมหรือโปรแกรมอื่น ๆ ซ่อนไว้) แนวทางที่นิยมกันคือติดตั้งฮาร์ดแวร์ประเภท Rebond Card หรือ Undo Card ไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นเลย แล้วเซ็ตให้เครื่องทำการลบโปรแกรมหรือข้อมูลที่เพิ่มเติมใหม่ออกทั้งหมดทุกครั้งที่เปิดเครื่องใหม่ ก็จะทำให้โปรแกรมในเครื่องทุกอย่างรวมทั้งหน้าตาของระบบปฏิบัติการเหมือนเดิมเสมอ และปลอดภัยจากไวรัสด้วย วิธีนี้ป้องกันได้ดีแต่มีข้อเสียคือต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 700-900 บาท ต่อเครื่อง ปัจจุบันนิยมใช้ซอฟต์แวร์ทำหน้าที่นี้แทน เช่นโปรแกรม DeepFreeze เป็นต้น จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า
เมื่อเครื่องต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตก็จะนำพาสิ่งที่ไม่ปลอดภัยหลายอย่างมาถึงนักเรียน เช่นการเข้าไปดูเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม การสื่อสารกับบุคคลอื่นในเว็บบอร์ด การสนทนา(Chat) โดยเฉพาะการเล่น"เอ็ม" หรือ MSN ที่อาจถูกชักจูงให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ง่าย รวมทั้งยังใช้ช่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตค่อนข้างมาก ทำให้เหลือความเร็วในการใช้อินเทอร์เน็ตสำหรับคนอื่นน้อยลง ครูควรให้ความรู้ในเรื่องเหล่านี้แก่นักเรียน พยายามเดินสอดส่องดูแลไปทั่ว ๆ ขณะที่นักเรียนใช้งานอินเทอร์เน็ตในห้องเรียน มีการห้ามปราม ตักเตือน หรือทำโทษนักเรียนที่ฝ่าฝืนบ้างตามความเหมาะสม เช่นไม่ให้เล่นอินเทอร์เน็ตเป็นเวลา 7 วัน เป็นต้น

22 มกราคม 2551