ภัยจากการใช้ Handy Drive
 
 
 
 
สวัสดีครับ สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงที่นักเรียนนำงานปลายภาคมานำเสนอเสนอผ่านโปรเจคเตอร์ที่หน้าชั้น โดยใช้ Handy drive (Flash drive หรือ Thumb drive) เสียบเข้าที่เครื่องของครู หลังเสร็จสิ้นการรายงาน ได้สแกนไวรัสก็พบว่าเครื่องติดไวรัสชนิดหนึ่งชื่อ People's Repulic of Thailand เข้าแล้ว กว่าจะแก้ไขได้ก็ใช้เวลาพอสมควร (อยากทราบรายละเอียดของไวรัสตัวนี้ คลิกที่นี่ครับ) และทำให้ได้ข้อคิดว่า Handy drive ที่มีความสะดวกสบายในการพกพากลับมีภัยแฝงอยู่ด้วย เป็นเรื่องที่จะคุยกันในวันนี้ครับ
แต่เดิมมาไวรัสคอมพิวเตอร์ใช้วิธีการแพร่กระจายเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต เช่นเว็บไซต์ อีเมล์ หรือไฟล์ที่ดาวน์โหลดมา แต่ปัจจุบันใช้ Handy drive เป็นพาหะในการนำไวรัสจากเครื่องหนึ่งไปติดอีกเครื่องหนึ่ง จึงทำให้การแพร่กระจายเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในห้องเรียนที่นักเรียนนิยมใช้ Handy drive เป็นสื่อบันทึกข้อมูล แทนแผ่นดิสก์หรือแผ่น CD เพราะมีขนาดเล็กกระทัดรัด มีความจุมาก และมีราคาถูกลงมาก จนสามารถจะซื้อไว้ใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนได้เกือบทุกคนแล้ว เมื่อนำไปเสียบที่เครื่องหนึ่งไวรัสจะแพร่กระจายเข้าไปอยู่ในเครื่องนั้น เมื่อมีนักเรียนอีกคนหนึ่งนำ Handy drive ของตนมาเสียบ ไวรัสจะเกาะติดที่ Handy drive ตัวใหม่ และเมื่อนักเรียนคนนี้นำ Handy drive ของตนไปเสียบที่เครื่องใด ไวรัสจาก Handy drive ของตนก็จะแพร่เข้าไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้น ไม่นานเครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนก็จะติดไวรัสทุกเครื่อง แต่โชคดีที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนติดตั้งระบบ Undo ไว้ (ใช้ Undo card) ทำให้เมื่อปิดเครื่องแล้วเปิดเครื่องขึ้นมาใหม่ไวรัสเหล่านั้นก็หายไป แต่ถ้าเครื่องที่ไม่มีระบบนี้ มีเพียงโปรแกรมป้องกันไวรัสเท่านั้น ก็คงจะต้องสแกนและกำจัดไวรัสกันทุกเครื่อง เป็นภาระค่อนข้างมาก ยิ่งถ้าไม่ได้ลงโปรแกรมป้องกันไวรัสไว้เลยหรือไม่ได้อัพเดทให้เป็นปัจจุบัน ก็อาจจะไม่พบไวรัสเหล่านี้
วิธีการที่ไวรัสคอมพิวเตอร์สามารถใช้ Handy drive เป็นพาหะแพร่กระจายไวรัสได้ ใช้คุณสมบัติที่ว่าเมื่อเราเสียบอุปกรณ์ชนิดนี้เข้าไปที่ช่องเสียบ USB ระบบเล่นอัตโนมัติ (Autoplay) ของวินโดวส์จะทำงานกับอุปกรณ์ชนิดนี้ทันที โดยพยายามตรวจดูว่ามีไฟล์ชื่อ autorun.inf อยู่ที่ไดเร็คตอรีราก (Root directory) ของ Handy drive หรือไม่ ถ้ามีก็จะดำเนินการตามคำสั่งในไฟล์ autorun.inf และถ้าคำสั่งในไฟล์นี้เป็นการสั่งให้ไวรัสทำงาน ไวรัสก็จะแพร่กระจายลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์
เมื่อรู้ว่า Handy drive มีภัยแฝงอยู่ และทราบลักษณะวิธีที่ไวรัสใช้ในการแพร่กระจายไวรัส จึงสามารถป้องกันตนเองได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้ครับ (1)สร้างโฟลเดอร์ชื่อ myname (หรือชื่ออื่น ๆ ที่ต้องการ) ไว้ใน Handy drive แล้วเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ในโฟลเดอร์นี้ ซึ่งอาจมีโฟลเดอร์ย่อยอยู่ภายในได้อีก ด้วยวิธีการนี้จะไม่มีไฟล์ใดอยู่ในไดเร็คตอรีรากเลย (2)เซตให้ระบบปฏิบัติการที่เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถมองเห็นนามสกุลของไฟล์และไฟล์ที่ซ่อนไว้ ด้วยการคลิกตามลำดับคือ My Documents --> Tools --> Folder Options --> View แล้ว ติ๊กหน้าช่อง Show hidden files and folders และนำเครื่องหมายถูกในช่อง Hide extensions for known file types ออก และ Hide protected operating system files แล้วตอบ Yes (3)ทุกครั้งที่เลิกใช้งาน ก่อนที่จะถอด Handy drive ออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ตรวจสอบอีกครั้งว่าไม่มีไฟล์ใดแปลกปลอมอยู่ที่ไดเรคตอรีรากของ Handy drive ถ้ามีควรลบทิ้งทันที และ(4)ควรสแกนไวรัสบน Handy drive เป็นประจำสม่ำเสมอ ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อัพเดทโปรแกรมไวรัสเป็นปัจจุบันแล้ว ถ้าทำได้เช่นนี้แล้วเราก็จะปลอดภัยจากภัยที่แฝงอยู่ใน Handy drive ระดับหนึ่งแล้วละครับ

17 กุมภาพันธ์ 2551