จะช่วยลดภาวะโลกร้อนในโรงเรียนได้อย่างไร
 
 
 
 
สวัสดีครับ เป็นเวลาหลายล้านปีมาแล้ว ที่โลกถูกปกคลุมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้รังสีความร้อนสะท้อนกลับออกไปได้หมด ถือเป็นระบบการทำความร้อนตามธรรมชาติที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิที่เหมาะสมและอบอุ่นพอที่สิ่งมีชีวิตจะเจริญเติบโตได้ แต่ทุกวันนี้การขยายตัวอย่างมากของภาคอุตสาหกรรมก่อให้เกิดการทำลายสมดุลทางธรรมชาติของโลกอย่างรุนแรง มนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานแล้ว จากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และ น้ำมัน ปรากฏการณ์นี้เองที่ได้เพิ่มปริมาณก๊าซที่ปกคลุมโลก จนนำไปสู่ปรากฏการณ์อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าที่ควรจะเป็น เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดการณ์ไม่ได้ เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ละครั้งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเป็นจำนวนมหาศาล เช่นพายุที่ประเทศพม่า แผ่นดินไหวที่ประเทศจีน อุทกภัยในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ในฐานะที่โรงเรียนเป็นผู้สร้างคนรุ่นใหม่ออกไปสู่สังคม จะมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนนี้ได้อย่างไรบ้าง เราจะมาคุยกันในวันนี้ครับ
สร้างความตระหนักและให้ความรู้ ภาวะโลกร้อนมิได้เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ครูวิทยาศาสตร์หรือครูสังคมศึกษาเท่านั้น ที่จะเป็นผู้ให้ความรู้กับนักเรียน แต่เป็นหน้าที่ของครูทุกกลุ่มสาระที่ควรจะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ และนำความรู้เหล่านี้ไปแทรกในกิจกรรมการเรียนการสอนในรายวิชาที่ตนเองสอน ตามความเหมาะสม ทุกรายวิชา อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบกับทุกคนในโลกนี้โดยเท่าเทียมกัน (ไม่ได้เลือกกลุ่มสาระวิชาหรอกนะครับ)
ลงมือปฏิบัติในโรงเรียน มีหลายวิธีที่จะช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการลงมือปฏิบัติโดยทันที เช่น รณรงค์ให้ครูและนักเรียนทุกคนช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้า โดยการปิดไฟและพัดลมที่ไม่ใช้งาน ทั้งนี้เพราะกระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งผลิตมาจากถ่านหินหรือน้ำมัน เมื่อลดการใช้กระแสไฟฟ้า ก็เท่ากับลดการใช้ถ่านหินและน้ำมันไปด้วย นอกจากนี้เงินที่เหลือจากการที่ช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้า ยังสามารถนำไปใช้พัฒนาโรงเรียนได้เป็นอย่างดี การรณรงค์นี้ควรกระทำอย่างต่อเนื่อง
เผยแพร่ความรู้ไปสู่ผู้ปกครอง การรณรงค์ภาวะโลกร้อนอย่างได้ผล น่าจะลงไปถึงการปฏิบัติในครอบครัวของนักเรียนแต่ละคน เพราะกิจกรรมในครอบครัวหลายอย่าง อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมในสภาวะนี้ได้เช่นเดียวกัน เช่นการเผาขยะ กิ่งไม้ หรืออื่น ๆ อันจะเป็นการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศอีกทางหนึ่ง นักเรียนควรเป็นผู้นำความตระหนักในเรื่องนี้ไปสู่ครอบครัว ช่วยครอบครัวปฏิบัติกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไปแล้วเพราะวันนี้ภาวะโลกร้อนเริ่มส่งผลกระทบมาใกล้ตัวเราขึ้นทุกที คงไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ของประเทศใดหรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะช่วยกันรักษาดาวเคราะห์สีน้ำเงินใบนี้ ให้ยังเป็นดาวเคราะห์โลกที่สามารถอาศัยอยู่ได้อย่างมีความสุขต่อไป ลงมือช่วยกันลดภาวะโลกร้อนวันนี้เลยครับ

13 มิถุนายน 2551